ลักษณะของการเพาะปลูกเห็ดฟาง



          การเพาะปลูกเห็ดฟางในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้วิธีปลูกที่เลียนแบบธรรมชาติ โดยการนำฟางมากองสุมๆ กัน ตามบริเวณที่เห็ดฟางเคยขึ้น แล้วโรยเชื้อเห็ดบนกองฟางที่เตรียมไว้ เมื่อเชื้อเห็ดได้รับความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 15-20 วัน ดอกเห็ดก็จะเกิดขึ้น มีผลผลิตให้เก็บได้เรื่อยๆ จนกระทั่งฟางจะเน่าสลายไปหมด แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลผลิตไม่ค่อยแน่นอน
          ปัจจุบันการเพาะปลูกเห็ดมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น วิธีการเพาะปลูกเห็ดได้อาศัยวิทยาการต่างๆ มาปรับปรุงในทุกๆ ด้าน เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์เห็ด การให้อาหารเสริม การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ตลอดจนมีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง มีการลงทุนกับบริษัทหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และส่งโรงงานบรรจุกระป๋อง ซึ่งการเพาะปลูกเห็ดฟางสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
          1. การเพาะปลูกแบบกองสูง เป็นวิธีที่มีการทำกันมาตั้งแต่มีการเพาะปลูกเห็ดในช่วงแรก ปัจจุบันก็มีทำวิธีนี้อยู่บ้างและยังให้ผลผลิตดี เหมาะสำหรับเพาะปลูกเป็นผักสวนครัวทั่วๆไป วิธีนี้ต้องใช้ฟางเป็นจำนวนมาก ประมาณ 40-50 ฟ่อน การเพาะปลูกแบบนี้นิยมน้อยในปัจจุบันเพราะใช้ฟางจำนวนมาก และต้องเก็บหลายรุ่นทีละน้อย ไม่เหมาะกับการเพาะขาย


ภาพที่ 4 การเพาะปลูกแบบกองสูง

(ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/606613)

2.  การเพาะปลูกแบบกองเตี้ย เป็นการดัดแปลงมาจากวิธีการเพาะปลูกแบบกองสูง นิยมใช้วิธีนี้เป็นอย่างมากและแพร่หลายที่สุด โดยการปรับสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเห็ดฟาง เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ลดต้นทุนในการผลิต และประหยัดแรงงาน สามารถใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ เช่น ผักตบชวา ปลายฟาง เปลือกถั่วเหลือง เป็นต้น ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อย สามารถกำหนดระยะเวลาให้การเก็บผลผลิตได้อย่างแน่นอน


ภาพที่ 5 การเพาะปลูกแบบกองเตี้ย
(ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/606613)

    3. การเพาะปลูกเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรมหรือแบบโรงเรือน เป็นการเพาะปลูกที่กำหนดให้ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาเพาะปลูกสั้น สามารถทำให้ขนาด สี และลักษณะต่างๆ ได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ โดยเพาะปลูกในโรงเรือนที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงเหมาะกับการเจริญเติบโตของเห็ดฟางได้ แต่มีข้อเสีย คือต้องลงทุนในการทำครั้งแรกสูง เพราะต้องทำโรงเรือน เครื่องกำเนิดไอน้ำและอุปกรณ์อื่นๆ และขั้นตอนการเพาะปลูกที่มีรายละเอียดมาก ผู้เพาะจะต้องมีความชำนาญ(บุญส่ง วงศ์เกรียงไกร, 2543, หน้า 21-23)


ภาพที่ 6 การเพาะปลูกเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรมหรือแบบโรงเรือน
(ที่มา : https://goo.gl/uWRJ2L)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลักษณะของเห็ดฟาง

โรคแมลงศัตรูเห็ดฟางและการป้องกัน

สายพันธุ์เห็ดฟาง