การค้าเชิงพาณิชย์


        เห็ดฟางเป็นเห็ดที่ตลาดมีความต้องการสูงมากและต่อเนื่อง เพราะเป็นที่นิยมบริโภคกันมากทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ เนื่องจากเห็ดฟางมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย และปลอดภัยจากสารเคมี
          ปัจจุบันแม้ว่ามีการผลิตเห็ดฟางกันมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงสามารถเพิ่มการผลิตเห็ดฟางขึ้นอีกหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด สำหรับลักษณะการจำหน่ายเห็ดฟางในตลาดมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
          1. จำหน่ายแบบเห็ดฟางสด เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยมาก แต่มักจะพบกับปัญหาเรื่องการขนส่งที่จ้องรักษาให้เห็ดฟางยังอยู่ในสภาพสดอยู่ ลักษณะที่เป็นดอกตูมจะจำหน่ายได้ราคาดี ดังนั้นการเก็บเห็ดฟางเพื่อจำหน่ายสด เกษตรกรต้องเก็บในตอนกลางคืนหรือเช้ามืดและส่งให้ถึงตลาดตอนเช้าเพื่อจำหน่าย สำหรับการจำหน่ายควรใช้ภาชนะปากกว้าง เช่น ถาด ไม่บรรจุแน่นเกินไป ส่วนการจำหน่ายเห็ดสดในต่างประเทศนั้น การส่งออกส่งทางเครื่องบิน  จะบรรจุในถาดโฟมหุ้มด้วยพลาสติก เพื่อพร้อมจะนำจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ทันที
ปัจจุบันตลาดสำคัญของเห็ดสด คือ สหรัฐอเมริกา และซาอุอาระเบีย ส่วนประเทศลิเบียมีแนวโน้มว่าจะนำเข้าเห็ดสดจากไทยมากขึ้น แต่ประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ก็นำเข้าเห็ดสดจากประเทศไทย แต่ไม่สม่ำเสมอ ถ้าประเทศไทยสามารถปรับปรุงให้มีผลผลิตสม่ำเสมอและมีคุณภาพในระดับมาตรฐานแล้ว โอกาสในการขยายตลาดยังมีอีกมาก(บุญส่ง วงศ์เกรียงไกร, 2543, หน้า99-101)
          2. การจำหน่ายแบบเห็ดฟางแห้ง การแปรรูปแบบเห็ดฟางสดเป็นเห็ดฟางแห้งสามารถทำได้โดยนำเห็ดฟางสดไปอบหรือตากแดดแห้งจนมีความชื้นประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ตลาดเห็ดฟางแห้งในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่สำหรับตลาดต่างประเทศให้ความสนใจเห็ดฟางแห้งมาก เพราะเห็ดฟางแห้งมีกลิ่นดีกว่า
          เห็ดฟางที่นำมาทำเห็ดฟางเห็ดแห้งควรเป็นเห็ดฟางที่เพิ่งบานใหม่ๆ เพราะจะให้สีและรสชาติที่ดีกว่าดอกตูม โดยปกติปริมาณเห็ดฟางสด 10-13 กิโลกรัม เมื่อทำให้แห้งแล้วจะมีน้ำหนักแค่ 1 กิโลกรัม นอกจากที่เห็ดฟางแห้งจะทำได้ทั้งดอกแล้ว ยังสามารถทำเห็ดฟางแห้งตัดขวางเป็นชิ้นบางๆ หรือหั่นแบบผ่าสี่ก็ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์เห็ดฟางแห้งได้มีการนำไปเป็นวัตถุดิบใส่ซุปสำเร็จรูปและบรรจุในผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูป สำหรับตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ
วิธีการทำเห็ดฟางแห้งมีขั้นตอนดังนี้
          1. ตัดแต่งเห็ดฟางที่จะนำไปอบแห้ง โดยตัดส่วนที่สกปรกและช้ำออก แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
          2. แช่เห็ดฟางในสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟด์ 0.02% ประมาณ 5 นาที แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
        3. นำเห็ดฟางมาอบที่อุณหภูมิประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส ประมาณ 18-24 ชั่วโมงสำหรับเห็ดฟางทั้งดอก ส่วนเห็ดฟางที่เป็นชิ้นหรือผ่าสี่ใช้เวลาในการอบน้อยลง
          4. บรรจุในถุงพลาสติกและปิดไม่ให้มีอากาศเข้าได้ จะทำให้เก็บไว้ได้นานมากขึ้น
      3. จำหน่ายแบบเห็ดฟางกระป๋องหรือภาชนะต่างๆ ลักษณะเห็ดฟางที่จำหน่ายส่งเข้าโรงงานเพื่อบรรจุกระป๋องนั้นจะมีการคัดคุณภาพ ขนาด รูปร่าง สีสัน และตำหนิอย่างละเอียด ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานสากลในการรับซื้อและการตีราคาของโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้เห็ดฟางยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริก ข้าวเกรียบเห็ด น้ำปลาเห็ด กะปิเห็ด ซ๊อสเห็ด เป็นต้น
          สัดส่วนในการบรรจุเห็ดฟางในกระป๋อง คือ เห็ดฟางสด 1 กิโลกรัมจะได้ประมาณ 2-3 กระป๋อง ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกเห็ดฟาง ขนาดกระป๋อง 16 ออนซ์ นอกจากการบรรจุเห็ดฟางแบบดอกตูมและแบบดอกบานแล้ว ยังมีการบรรจุเห็ดฟางแบบสไลด์ หรือดองเห็ดฟางในน้ำเกลืออีกด้วย
          ความต้องการเห็ดฟางในกระป๋องในประเทศไทยยังมีความต้องการน้อย ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ แต่เดิมการส่งออกมีเฉพาะประเทศซาอุดิอารเบียและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้ขยายออกกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและเอเชีย และประเทศที่คาดว่าจะมาเป็นลูกค้าประจำ คือ บาห์เรน ออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ สำหรับปัญหาที่สำคัญในการผลิตเห็ดฟางกระป๋อง คือ วัตถุดิบมีไม่เพียงพอและคุณภาพไม่ได้มาตรฐานที่ตลาดต้องการ(ยุทธนา ธีระวงศ์กังวาน, 2551, หน้า 100-102)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลักษณะของเห็ดฟาง

โรคแมลงศัตรูเห็ดฟางและการป้องกัน

สายพันธุ์เห็ดฟาง